ปล่อยกุ้งก้ามกรามคืนแหล่งน้ำ สู่แนวคิดฟื้นอาชีพพรานเบ็ดแม่กลอง

ภาพที่เห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับสองฟากฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่สมุทรสงคราม คือ "เรือตกกุ้ง" อาชีพตกกุ้งก้ามกราม หรือกุ้งแม่น้ำ เป็นวิถีชีวิตของคนริมฝั่งลำน้ำแม่กลอง มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะสมุทรสงครามมีพื้นที่ที่เป็นลำคลองมากกว่า 360 คลอง มีแม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นหลัก โดยสภาพแล้ว คือ เป็นเมืองสองน้ำ คือ น้ำจืดกับน้ำเค็ม ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของกุ้งแม่น้ำ
ในอดีตกุ้งแม่น้ำในแม่น้ำแม่กลอง ในลำคลองสาขา และลำประโดงมีชุกชุม ในยามน้ำลด หรือน้ำลงชาวบ้านไปจะงมกุ้งแม่น้ำตามบันไดท่าน้ำหน้าบ้าน ก็จะได้กุ้งแม่น้ำมากินแล้ว จึงไม่แปลกที่อาชีพตกกุ้งแม่น้ำ จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มีคนประกอบอาชีพนี้นับพันราย แต่จากการมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ราชบุรี ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำแม่กลอง ได้ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศน์ของลำน้ำแม่กลอง กุ้งหอย ปู ปลา และสัตว์น้ำในแม่น้ำแม่กลองสูญพันธุ์ กุ้งแม่น้ำก็เป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่ง ที่ลดจำนวนลงไป ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพตกกุ้งแม่น้ำ
อาชีพพรานเบ็ดตกกุ้งแม่น้ำแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง กลับมามีความหวังอีกครั้ง ในปี 2546 เมื่อ ประภาส บุญยินดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ขณะนั้น ได้เล็งเห็นว่าพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีความเหมาะสมให้กุ้งก้ามกราม หรือกุ้งแม่น้ำขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งกุ้งแม่น้ำจากลำน้ำแม่กลองมีรสชาติอร่อยกว่าลุ่มน้ำอื่น และคนเมืองแม่กลองได้ประกอบอาชีพตกกุ้งแม่น้ำขายสร้างรายได้มาตั้งโบราณ จึงต้องการที่จะคืนวิถีชีวิตให้พรานเบ็ดตกกุ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
ด้วยเหตุนี้ โครงการคืนกุ้งแม่น้ำสู่ธรรมชาติจึงเกิดขึ้น และเพียงแค่สี่เดือนเศษกุ้งที่ปล่อยลงแม่น้ำ ทำให้กุ้งแม่น้ำในแม่น้ำแม่กลองมีปริมาณมากขึ้น แต่หลังจาก ประภาส บุญยินดี ย้ายไปรับราชการที่อื่นในปี 2549 โครงการนี้ได้หยุดชะงักลง ถัดจากนั้นในปี 2551 ประภาส บุญยินดี ได้ย้ายจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม การสานต่อโครงการข้างต้นจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ในการจัดทำโครงการปล่อยพันธุ์กุ้งแม่น้ำ ลงแหล่งน้ำธรรมชาติตามแม่น้ำและลำคลองต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี กล่าวได้ว่ามีการปล่อยกุ้งแม่น้ำคืนธรรมชาติแห่งละ ร่วมกันแล้วกว่า 10 ล้านตัว และได้ทำโครงการต่อเนื่องทุกปีมาถึงปัจจุบัน
"โครงการปล่อยกุ้งก้ามกรามลงแม่น้ำแม่กลอง ผมเป็นคนเขียนโครงการเป็นคนแรกของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติมีน้อยลง จึงได้เขียนโครงการนี้ขึ้นมา และได้มีการกำหนดขนาดกุ้งก้ามกราม ที่จะปล่อยจะต้องมีขนาด 5 เซนติเมตร ลูกกุ้งจึงจะมีโอกาสรอดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยได้เริ่มทำโครงการนี้เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา และได้ปล่อย 10 ล้านตัว เมื่อปีที่แล้ว (2552) ส่วนปีนี้จะปล่อยอีก 10 ล้านตัว โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การส่วนบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้ช่วยปล่อยกุ้งกระจายไปตามลำน้ำต่างๆ กุ้งที่ปล่อยจะใช้เวลา 4-5 เดือน ก็สามารถจับมาบริโภคได้" ประภาส บุญยินดี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ
สำหรับแนวคิดข้างต้น คือ การที่จะยกระดับให้สมุทรสงครามเป็นศูนย์กลางกุ้งแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะสมุทรสงครามได้เปรียบจังหวัดอื่นในลุ่มน้ำแม่กลอง เพราะกุ้งแม่น้ำเมื่อจะผสมพันธุ์ต้องมาอยู่ที่น้ำกร่อย ขณะที่สมุทรสงครามมี 3 น้ำ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด น้ำเค็มอยู่ในเขต อ.เมือง น้ำกร่อยอยู่ในเขต อ.อัมพวา และน้ำจืดอยู่ในเขต อ.บางคนที เมื่อกุ้งแม่น้ำผสมพันธุ์จะมาผสมพันธุ์กันที่อัมพวา แล้วขยายพันธุ์ออกไปตามลำน้ำต่างๆ
กล่าวได้ว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของพรานเบ็ดตกกุ้งแห่งลุ่มน้ำแม่กลองในพื้นที่สมุทรสงคราม ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งเรือตกกุ้งที่เคยลด ทั้งจังหวัดเหลือแค่ 100 ลำเศษ ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง คนตกกุ้งที่เคยหันไปประกอบอาชีพอื่น ก็กลับมาลงเรือจับคันเบ็ดอีกครั้ง จนทำให้พรานเบ็ดตกกุ้งมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ในขณะที่การทำงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม มีรายได้แค่วันละ 180 บาท ทำให้ปัจจุบันมีเรือตกกุ้ง รวมกันแล้วกว่า 3,000 ลำ
"ปัจจุบันมีเรือตกกุ้งแม่น้ำเพิ่มขึ้น เพราะมีกุ้งแม่น้ำในธรรมชาติเพิ่มขึ้น กุ้งที่ตกได้จากแม่น้ำแม่กลองจะกระจายไปตามโฮมสเตย์ และรีสอร์ทต่างๆ โดยปัจจุบันคนตกกุ้งในลำน้ำแม่กลองมีรายได้เฉลี่ยคนละ 300-500 บาท โดยคนตกกุ้งส่วนใหญ่จะไปตกในแม่น้ำแม่กลอง" นันทพร กลิ่นมาลี ประธานชมรมคนตกกุ้ง ให้ข้อมูลถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
สุกรี กลิ่นมาลี อายุ 52 ปี ภูมิลำเนา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ผู้ประกอบอาชีพตกกุ้งแม่น้ำ เล่าว่า ประกอบอาชีพตกกุ้งแม่น้ำมาตั้งแต่อายุ 14 ปี อาชีพตกกุ้งปัจจุบันรายได้ดีมาก ดีกว่าทำงานเป็นลูกจ้างโรงงาน เพราะมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท "เมื่อ 10 ปีที่แล้วกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำแม่กลองชุมมาก แต่ 5 ปีที่ผ่านมา กุ้งเริ่มลดน้อยลง เมื่อมีการปล่อยกุ้งลงแม่น้ำ ทำให้ปริมาณกุ้งธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทำให้คนที่เลิกตกกุ้งหันมาตกกุ้งอีก"
"อาชีพตกกุ้งมีรายได้สูงกว่าการทำงานในโรงงาน เพราะทำงานโรงงานมีรายได้วันละ 180 บาท แต่ตกกุ้งมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท หากขยันก็ได้มาก ผมอยู่มา 40 ปีแล้วยังอยู่ได้ และยิ่งภาครัฐมาช่วยโดยการปล่อยพันธุ์กุ้งลงแม่น้ำ อาชีพนี้คงทำไปได้จนถึงลูกหลาน" สุกรีแสดงความมั่นใจ
"ผมประกอบอาชีพตกกุ้งมา 25 ปี มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300 บาท โดยจะตกกุ้งในแม่น้ำแม่กลองเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ สมัยก่อนกุ้งชุมมาก แต่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วกุ้งลดน้อยลง แต่ตอนนี้กลับมาชุกชุมอีก สาเหตุที่กุ้งชุกชุมเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดทำโครงการปล่อยกุ้งแม่น้ำลงแม่น้ำแม่กลอง โดยให้ท้องถิ่นร่วมสนับสนุน โครงการนี้ทำให้ประชาชนที่มีอาชีพตกกุ้งมีรายได้เพิ่มขึ้น ผมมองว่าอาชีพจะยั่งยืน หากทางราชการช่วยแบบนี้ อีกอย่างคนตกกุ้งต้องช่วยกัน คอยดูไม่ให้ใครมาจับกุ้งแบบผิดกฎหมาย คือ การเบื่อกุ้ง ผมอยากให้ทางราชการปล่อยกุ้งปีละ 10 ล้านตัวต่อไป เพราะจะได้คืนวิถีชีวิตให้คนตกกุ้ง คนตกกุ้งจะได้ไม่ต้องไปหางานอื่นทำ" สมชาย จรรยงค์ อายุ 41 ปี ผู้ประกอบอาชีพตกกุ้งแม่น้ำระบุ
ขณะเดียวกัน การคืนชีวิตกุ้งแม่น้ำสู่ลำน้ำแม่กลอง ไม่ได้ส่งผลดีต่อพรานเบ็ดตกกุ้งเท่านั้น ยังส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหาร และการท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยวยังได้มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตพรานเบ็ดตกกุ้ง เชาวลิต สัตบุศ เจ้าของร้านอาหาร 5 ส และเจ้าของกิจการทัวร์ตกกุ้งแม่น้ำ เล่าว่า ปัจจุบันการตกกุ้งแม่น้ำในแม่น้ำแม่กลองกำลังได้รับความนิยม เพราะกุ้งแม่น้ำในแม่น้ำแม่กลองชุกชุมมาก และมีผู้ประกอบอาชีพตกกุ้งแม่น้ำมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาตกกุ้งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และกุ้งแม่น้ำสามารถทำอาหารได้หลากหลาย
การปล่อยกุ้งแม่น้ำลงลำน้ำแม่กลองปีละ 10 ล้านตัว จึงเป็นการคืนวิถีชีวิตคนตกกุ้งในลุ่มน้ำแม่กลอง และทำให้วิถีชีวิตสองฟากฝั่งแม่น้ำแม่กลองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ที่สำคัญ กุ้งแม่น้ำที่ปล่อยไม่ได้ให้ผลประโยชน์แต่เพียงสมุทรสงครามเท่านั้น แต่จะเอื้อไปถึงจังหวัดแถบภาคกลางอื่นๆ ที่จะมีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น
อ้างอิงเนื้อหาจาก www.bangkokbiznews.com